11
Oct

ชนิดของ สี และ ปูน

สี

1. สีน้ำพลาสติค สีน้ำพลาสติคผลิตจากวัตถุดิบจำพวก “โพลีไวนิล อะซิเตท” สีน้ำพลาสติคที่ดีจะต้องผสมสารที่ป้องกันเชื้อรา หรือผงสีชนิดที่ทนทานต่อแสงแดดและการเช็ดล้าง สีชนิดนี้ ใช้ได้ดีกับผนังปูนฉาบคอนกรีต หรือกระเบื้องแผ่นเรียบ ใช้ได้ทั้งภายนอกและภายในอาคาร และมีเฉดสีต่างๆ ให้เลือกมากมาย ราคาค่อนข้างประหยัด

2. สีอะครีลิกกึ่งเงา สีที่ใช้ทาภายนอกอาคารโดยทั่วไปจะใช้สีน้ำพลาสติก ชนิดอะครีลิค 100 % เพราะเป็นสีที่ทนต่อทุกสภาพอากาศ แต่สีชนิดนี้จะมีผิวที่ด้าน ซึ่งเป็นสาเหตุของการจับยึดของฝุ่นละออง และคราบสกปรกในอากาศ ถ้าหากต้องการหลีกเลี่ยง ความสกปรกอย่างที่กล่าว ก็ควรใช้สีอะครีลิคชนิดกึ่งเงาแทน เพราะสีชนิดนี้ เนื้อสีจะลื่น ลดการจัดยึดของฝุ่นละออง และคราบสกปรกต่างๆ แต่เนื่องจากผิวเงา อาจเป็นสาเหตุของการเกิด “ลอนคลื่น” บนผนังฉาบปูน เมื่อโดนแสงส่อง ฉะนั้นผิวปูนฉาบจะต้องเรียบสนิท สำหรับผนังภายในที่ต้องการความสะดวกในการทำความสะอาด เช่น ห้องครัว การใช้สีชนิดนี้ทาผนังและฝ้าเพดาน ก็จะช่วยลดปัญหาในการทำความสะอาดได้ดี

3. สีนูน สีนูนจะประกอบจากอะครีลิกเรซินของซิลิกาและควอตซ์ ซึ่งทำให้พื้นผิวมีลวดลายและสวยงาม ทั้งยังช่วยในการยึดเกาะกับพื้นผิวได้ดี สำหรับผิวผนังที่มีรอยร้าวหรือฉาบปูนไม่เรียบ ก็ สามารถกลบเกลื่อนได้ กรรมวิธีสำหรับสีชนิดนี้คือ จะใช้การพ่นหรือลูกกลิ้ง ทาบนผิว คอนกรีต แผ่นยิบซั่ม หรือกระเบื้องแผ่นเรียบ ใช้ได้ทั้งภายนอกและภายใน

4. สีอีพ็อกซี่ สีอีพ็อกซี่เป็นสีสำหรับกันสนิม ทนต่อกรดและด่างได้เป็นอย่างดี สามารถกันน้ำซึมได้ทาได้หนาๆ โดยสีไม่ย้อย ทาง่าย แห้งเร็ว เหมาะสำหรับใช้ทาโลหะและคอนกรีต เช่น ทาเรือ ท่อน้ำประปา และกระเบื้องหลังคา

5. สีทาไม้ สำหรับไม้ที่ต้องการทาสี สีที่ใช้ควรเป็นสีน้ำมัน หรือ สีที่ใช้ทาไม้โดยเฉพาะ ถ้าเป็นสีอะครีลิค 100 % จะช่วยในการยึดเกาะที่ดี และยืดหยุ่นไม่แตกร้าวเวลาไม้เกิดการยืดหดตัว สำหรับไม้ที่ต้องการโชว์ลายไม้ ส่วนใหญ่จะใช้แลคเกอร์ หรือเชอร์แลค แต่ทุกวันนี้เรามีสารที่เรียกว่า “โพลียูรีเทน” ซึ่ง ช่วยในการป้องกันเนื้อไม้ได้ดีกว่า ทั้งยังให้ความเงางามอีกด้วย สำหรับโครงไม้ต่างๆ ที่อยู่ด้านในไม่ต้องทาแลคเกอร์ หรือสีน้ำมัน แต่ต้องทาน้ำยากันปลวก

ชนิดของปูนซีเมนต์ ปูนซีเมนต์แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ

1. Portland Cement ปูนชนิดนี้มีกำลังอัดสูง และความแข็งแรงมีประสิทธิภาพในการยึดเกาะที่ดี ใช้สำหรับทำโครงสร้างที่ต้องการรับน้ำหนัก ซึ่งปูนชนิดนี้จะมีราคาแพงกว่าอีกชนิด

2. Silica Cement ปูนชนิดนี้จะมี กำลังอัดและความแข็งแรงที่น้อยกว่า เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความปราณีตเรียบร้อย เช่น งานฉาบปูน หรืองานก่อ ซึ่งการรับน้ำหนัก และการยึดเกาะจะสู้แบบแรก โดยปูนเหล่านี้จะมีราคาที่ถูกกว่าแบบแรก การใช้งานจึงต้องใช้ให้ถูกประเภทของงาน มิฉะนั้น จะทำให้เกิดปัญหาในการรับน้ำหนัก หรือการแตกร้าวได้ ซึ่งจะมีอันตรายมาก